แจ้งเตือนเฝ้าระวังการบริโภคอาหารให้ปลอดภัย

      วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ร่วมกับคปสอ.ทุกแห่งในจังหวัดนราธิวาส จัดกิจกรรมประชุมการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสารปนเปื้อนในอาหารโดยหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งมีการตรวจสอบยาฆ่าแมลงตกค้างในผักและผลไม้ ทั้งหมด 223 รายการ ตกมาตรฐาน 15 รายการ คิดเป็น ร้อยละ 6.73 ตรวจสอบสารกันราปนเปื้อนในอาหารหมักดอง ทั้งหมด 37 รายการ ตกมาตรฐาน 4 รายการ คิดเป็น ร้อยละ 10.81 และตรวจสารบอแรกซ์ปนเปื้อนในอาหาร ทั้งหมด 94 รายการ ตกมาตรฐาน 5 รายการ คิดเป็นร้อยละ 5.32 ส่วนใหญ่พบในฟองเต้าหู้

      วิธีลดยาฆ่าแมลงตกค้างในผักผลไม้ ข้อสังเกตควรเลือกผักที่ใบมีรูพรุนจากการเจาะของแมลงส่วนการเลือกซื้อผลไม้นั้นต้องดูที่ผิวสดใหม่ ขั้วหรือก้านยังเขียวและแข็ง เปลือกไม่ช้ำหรือดำที่สำคัญหลังการซื้อผักและผลไม้ ควรทำความสะอาดก่อนรับประทานหรือปรุงอาหารเพื่อลดการตกค้างของยาฆ่าแมลง เช่น นำผักใส่ตะแกรง เปิดน้ำไหลผ่านโดยเปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ล้างให้ทั่วนานประมาณ 2 นาที,ใช้น้ำสมสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วนำไปล้างด้วยน้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง

    สารกันราหรือกรดซาลิซิลิค ผู้ที่กินเข้าไปอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาจระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ บางรายเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หรืออาจเป็นผื่น ตามผิวหนังลำตัว ควรหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง เลือกกินอาหารที่สดใหม่

     การเลือกซื้อ

        -กรณีที่อาหารไม่ได้อยู่ในบรรจุภัณฑ์ ควรดูลักษณะทางกายภาพว่ามีสิ่งเจือปนสีและกลิ่น ผิดแปลกจากที่เคยรับประทานหรือไม่ โดยเลือกซื้อจากสถานที่จําหน่ายที่น่าเชื่อถือและคุ้นเคย

        -กรณีที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ ควรสังเกตสภาพภายนอกของบรรจุภัณฑ์ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีการเก็บรักษาในสภาพที่เหมาะสมและมีรายละเอียดบนฉลากอาหารให้ครบถ้วน ที่สำคัญ จะต้องมีการแสดงเลขสารบบอาหาร (อย.)

      สารบอแรกซ์เป็นอันตรายกับทุกอวัยวะภายในร่างกาย โดยเฉพาะตับ ไต สมอง ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบย่อยอาหาร โดยควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีฉลากครบถ้วน ถูกต้อง และเลขสารบบอาหาร (อย.) เลือกซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ